วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ชีววิทยา กับวรรณกรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

  ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็คือ ถ้าไม่มีชีวิต(มนุษย์) ก็ไม่มีวรรณกรรม(ผลงานสร้างสรรค์จากปัญญามนุษย์)

         ตอบให้ชัดขึ้นก็คือ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีภูมิปัญญา การบริโภคอาหารเพื่อความเติบโตทางกายเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นคงไม่เพียงพอ มนุษย์ยังต้องการอาหารทางใจ มนุษย์จึงสร้างสรรค์ค์งานศิลปะหลากแขนง เพื่อสนองความต้องการทางด้านจิตใจของตนและผู้อื่น วรรณกรรมซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของศิลปะจึงมีส่วนช่วยเติมเต็มทางด้านจิตใจให้แก่ผู้อ่าน ได้มีโอกาสสัมผัสรสอารมณ์หลากหลายที่นักเขียนจำลองมาจากชีวิตจริง (แม้จะมีการตัดต่อแต่งเติมไปบ้าง)


         ในฟากของนักเขียนผู้สร้างงานก็มิได้เนรมิตผลงานขึ้นมาจากความว่างเปล่า แต่เก็บเอาอารมณ์ ความรู้สึก ที่ได้จากการใช้ชีวิตประจำวันนำมาปรับแต่งเป็นงานเขียนผ่านสายตาและมุมมอง ตลอดจนทัศนะเฉพาะของตน สื่อสะท้อนไปยังผู้อ่านและสังคม

         งานเขียนบางชิ้น นักเขียนบางคน ผลงานของเขาอาจจะมีอิทธิพลต่อแนวคิด และชีวิตของผู้อ่าน ในลักษณะ "หนังสือบางเล่มเปลี่ยนชีวิตคนบางคน" ได้ (ฟังคล้ายโฆษณา หนังสือ 'พลังแห่งชีวิต' ที่หยิบยืมวาทะนี้มาใช้ได้อย่างเหมาะสมัย) ในทางกลับกันงานเขียนที่ทรงอิทธิพลดังกล่าวอาจส่งผลให้นักอ่าน (หรือนักเขียน) บางคนเกิดแรงบันดาลใจสร้างผลงาน 'วรรณกรรม' ของตนขึ้นมาบ้าง หรือแม้แต่แนวโน้มการใช้ชีวิตของคนในสังคมที่เปลี่ยนไป ก็มีผลต่อ 'เนื้อหา' และ 'รูปแบบ' ของงานเขียนที่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสมัยได้ ในลักษณะที่สังคม (หรือชีวิตในสังคม) ส่งผลต่อวรรณกรรม ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากนักเขียนอาศัยวัตถุดิบจากชีวิตในสังคมมาสร้างเป็นงานเขียน ในลักษณะที่ชีวิตและวรรณกรรมต่างก็เป็นผลสะท้อนซึ่งกันและกันนั้นเอง

         ชีวิต และ วรรณกรรม จึงมีความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันโดยนัยนี้  (โชคชัย บัณฑิต)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น